เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายแค่ไหน ?

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายแค่ไหน ?

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือ Gestational Diabetes Mellitus (GDM) เป็นโรคเบาหวานชนิดหนึ่ง ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่มักถูกวินิจฉัยในช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 ของการตั้งครรภ์ เกิดจากภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ได้เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยได้ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

ทำไมเบาหวานขณะตั้งครรภ์ถึงอันตราย ?

ผลของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ต่อคุณแม่

  • จะมีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ (Pre-clampsia)
  • เพิ่มความเสี่ยงทำให้การผ่าท้องคลอดมากขึ้น เพราะว่าทารกอาจตัวใหญ่เกินกว่าจะคลอดปกติ
  • ติดเชื้อได้ง่าย
  • น้ำคร่ำปริมาณมากกว่าปกติ
  • มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต
  • เบาหวานขึ้นตา ทำให้การมองเห็นผิดปกติ
  • เบาหวานลงไต ทำให้ไตเสื่อมสภาพ

ผลของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ต่อลูกน้อย

  • ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • ทารกตัวใหญ่ ทำให้คลอดยาก เสี่ยงต่อการผ่าคลอด
  • ทารกมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หลังคลอด
  • ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ภาวะหัวใจพิการ
  • ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ในกรณีที่ไม่ได้รับการควบคุมระดับน้ำตาลอย่างดี
  • ทารกที่คลอดจากมารดาที่มีภาวะนี้จะมีโอกาสเป็นโรคอ้วน และอาจเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตได้

สาเหตุของเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • น้ำหนักตัวเกิน ก่อนตั้งครรภ์
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
  • หญิงตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปี
  • หญิงที่เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อนในครรภ์ที่ผ่านมา
  • หญิงที่เคยคลอดบุตรน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 4 กิโลกรัม
เบาหวานขณะตั้งครรภ์

อาการของเบาหวานขณะตั้งครรภ์

โดยทั่วไปโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะไม่มีอาการใด ๆ แต่สามารถสังเกตอาการได้คล้ายกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ดังนี้

  • ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
  • กระหายน้ำมากกว่าปกติ
  • รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย

เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจไม่ชัดเจนหรือคล้ายกับอาการตั้งครรภ์ทั่วไป การตรวจคัดกรองจึงมีความสำคัญ

การตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์

จะได้รับการตรวจคัดกรองที่อายุครรภ์ 24 – 28 สัปดาห์ โดยการตรวจคัดกรองด้วย 50g GCT คือ ให้คุณแม่รับประทานน้ำตาลกลูโคสขนาด 50 กรัม โดยไม่ต้องงดน้ำ-งดอาหาร และทำการเจาะเลือด เพื่อดูค่าน้ำตาลที่ 1 ชั่วโมง หลังรับประทาน

หากผลน้ำตาลสูงผิดปกติ จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ต่อไป โดยการตรวจวินิจฉัยด้วย 100g OGTT โดยทำการเจาะเลือดขณะอดอาหาร และหลังให้รับประทานกลูโคส 100 กรัม ที่ 1, 2 และ 3 ชั่วโมงตามลำดับ (รวมเจาะเลือดทั้งหมด 4 ครั้ง)

หากผลพบความผิดปกติ มากกว่าหรือเท่ากับ 2 ค่า คุณแม่จะได้รับการวินิจฉัยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และทำการรักษาควบคู่กับการฝากครรภ์ต่อไป

การรักษาเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • ควบคุมอาหาร กินอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรต หลีกเลี่ยงของหวาน หรืออาหารที่จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงง่าย เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำอัดลม นมเปรี้ยว ของทอด ผลไม้รสชาติหวาน ขนมหวาน เป็นต้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • ฉีดอินซูลิน ในบางรายอาจต้องฉีดอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

การดูแลรักษาคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีความสำคัญอย่างมาก ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการใดที่สามารถป้องกันการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ แต่สามารถควบคุมได้ โดยการออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร และการลดน้ำหนักตัวตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์