สารอาหาร และโภชนาการที่ดีมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนจะช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน เสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายทั้งคุณแม่และคุณพ่อ และเพิ่มคุณภาพของไข่และสเปิร์ม วันนี้แอดมินได้รวบรวมสารอาหารสำคัญช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มาฝาก
สารอาหารสำคัญสำหรับคุณแม่ที่เตรียมพร้อมตั้งครรภ์
1. กรดโฟลิก (Folic Acid)
กรดโฟลิก หรือ โฟเลต (Folic acid) นั้นเปรียบเสมือนวิตามินบี 9 ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างเซลล์ใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ กรดโฟลิก ช่วยป้องกันความผิดปกติของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะสมองและไขสันหลัง พบมากในผักใบเขียว พืชตระกูลถั่ว ธัญพืช ควรเริ่มทานกรดโฟลิกก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 – 3 เดือน เพราะกรดช่วยในการแบ่งเซลล์และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ โดยทั่วไปแล้วแพทย์มักจะแนะนำให้ทานกรดโฟลิกประมาณ 400 ไมโครกรัมต่อวัน
2. แคลเซียม (Calcium)
แคลเซียม เป็นแร่ธาตุที่สำคัญมากสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกน้อยในครรภ์ค่ะ เพราะแคลเซียมมีบทบาทสำคัญในการสร้างและเสริมความแข็งแรงให้กับกระดูกและฟันของทั้งคุณแม่และลูกน้อย แคลเซียมพบมากในผลิตภัณฑ์จากนม ปลาเล็กปลาน้อย ถั่วเหลือง และผักใบเขียว เช่น คะน้า บรอกโคลี เป็นต้น
3. ธาตุเหล็ก (Iron)
ธาตุเหล็ก เป็นแร่ธาตุที่สำคัญ ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง เพื่อการเจริญเติบโตของทารก ออกซิเจนที่ธาตุเหล็กนำพามา จะไปเลี้ยงสมองและอวัยวะสำคัญอื่นๆ ของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกเจริญเติบโตได้สมบูรณ์การขาดธาตุเหล็กจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งส่งผลให้คุณแม่รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย และอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกได้ ธาตุเหล็กยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงและป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ อีกด้วย ธาตุเหล็ก พบมากในเนื้อสัตว์ ตับ ผักโขม
4. กรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3 Fatty Acids)
กรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงที่กำลังวางแผนจะมีบุตร การรับประทานโอเมก้า 3 ก่อนตั้งครรภ์จะช่วยเตรียมร่างกายให้พร้อมและสร้างรากฐานที่ดีสำหรับการพัฒนาของลูกน้อยในอนาคต กรดโอเมก้า 3 จะช่วยเพิ่มคุณภาพของไข่ ทำให้ไข่มีสุขภาพที่ดีขึ้นและมีโอกาสในการปฏิสนธิได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรังไข่ ทำให้การตกไข่เป็นไปอย่างปกติ พบมากในปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล และถั่ว
5. ไอโดดีน (Iodine)
ไอโอดีนเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเซลล์สมองและระบบประสาทของทารกในครรภ์ หากขาดไอโอดีน ทารกอาจมีปัญหาทางสมอง เช่น สติปัญญาบกพร่อง การเจริญเติบโตช้า การได้รับไอโอดีนเพียงพอจะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์และการให้นมบุตร ไอโอดีน พบมากในอาหารทะเล และเกลือ
6. วิตามินบี 12 (Vitamin B12)
วิตามินบี 12 เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ มีบทบาทสำคัญต่อร่างกายหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง การทำงานของระบบประสาท และการสร้างดีเอ็นเอ และยังช่วยบำรุงน้ำเชื้อสำหรับผู้ชาย ทำให้สเปิร์มเคลื่อนที่ได้ดี เพิ่มโอกาสในการว่ายไปปฏิสนธิกับไข่ของผู้หญิง พบมากในเนื้อสัตว์ ปลา ตับ อาหารทะเล
7. วิตามินดี (Vitamin D)
วิตามินดี เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูกและฟันของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งสำคัญต่อการสร้างกระดูก การได้รับวิตามินดีเพียงพออาจช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และการคลอดก่อนกำหนด อีกทั้งยังช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ที่เป็นฮอร์โมนสำคัญที่สุดของผู้ชาย ส่งผลต่อการสร้างสเปิร์มได้มากขึ้นและเคลื่อนที่ได้ดีอีกด้วย พบมากในปลาทะเล ตับ และไข่แดง
8. วิตามินซี (Vitamin C)
วิตามินซี เป็นวิตามินที่ละลายน้ำได้ และมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันช่วยป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ และยังทำให้สเปิร์มของผู้ชายมีคุณภาพ แข็งแรง และเคลื่อนที่ได้ดี พบมากในผลไม้รสเปรี้ยว มะเขือเทศ บรอกโคลี กะหล่ำปลี และพริกหวาน
9. สังกะสี (Zinc
สังกะสี เป็นสารอาหารสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงที่กำลังวางแผนจะมีบุตร สังกะสี มีความสำคัญในการสร้างเซลล์ใหม่ ซึ่งรวมถึงเซลล์ไข่ด้วย การได้รับสังกะสีเพียงพอจะช่วยเพิ่มคุณภาพของไข่และสเปิร์ม พบมากในเนื้อสัตว์ อาหารทะเล เช่น หอยนางรม เมล็ดฟักทอง และข้าวกล้อง
เคล็ดลับเพิ่มเติม
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ช่วยในการขับถ่ายของเสียและรักษาสมดุลของร่างกาย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและระบบไหลเวียนเลือดดี
- หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารแปรรูปมักมีโซเดียมและน้ำตาลสูง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ
- ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ สารเหล่านี้อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์
การรับประทานอาหารที่ดีและการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์และมีลูกน้อยที่แข็งแรง ข้อมูลนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ทั่วไป ไม่ได้มีเจตนาเพื่อทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล