ผดร้อน ผดผื่นในเด็กทารก เป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในเด็กทารก โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศร้อน ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายท่านกังวลใจ เพราะกลัวว่าลูกน้อยจะรู้สึกคันและไม่สบายตัว การทำความเข้าใจเกี่ยวกับผดผื่นในเด็กทารกจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกน้อยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม วันนี้ mom issues จึงมีวิธีการดูแลลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่มาแนะนำผ่านบทความนี้
ผดร้อน คืออะไร ?
ผดร้อน (Miliaria bubra) เป็นภาวะที่เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ทำให้เหงื่อไม่สามารถระบายออกจากร่างกายได้ตามปกติ ส่งผลให้เกิดผื่นขึ้นตามผิวหนัง โดยเฉพาะในบริเวณที่อับชื้น เช่น คอ ข้อพับ หน้าอก หลัง แขน และขาหนีบ มักเกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อนหรือสภาพอากาศร้อนชื้น ผดร้อน สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะ ขึ้นอยู่กับความลึกของการอุดตันของท่อเหงื่อ ได้แก่
- Miliaria crystallina เป็นการอุดตันของผิวหนังชั้นบนสุด มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ขนาดเล็กประมาณ 1 – 2 มิลลิเมตร ไม่มีอาการเจ็บ หรือคัน แต่ตุ่มน้ำจะแตกง่ายมาก เป็นชนิดที่พบบ่อยในทารกแรกเกิด
- Miliaria rubra เป็นการอุดตันของต่อมเหงื่อบริเวณผิวหนังชั้นนอก แต่ลึกลงไปมากกว่าชั้น Miliaria crystallina มีลักษณะเป็นตุ่มสีแดง หรือตุ่มน้ำใส ๆ มีอาการแสบ หรือคันร่วมด้วย
- Miliaria pustulosa เป็นการอุดตันที่ผิวหนังชั้นที่ลึกลงมา มีลักษณะเป็นตุ่มหนอง
- Miliaria profunda เป็นการอุดตันที่เกิดในชั้นหนังแท้ มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดง ไม่เจ็บ หรือคัน
ผดร้อนในเด็กทารกเกิดจากอะไร ?
ผดร้อน ผดผื่นในเด็กทารก สาเหตุหลักเกิดจากการที่ต่อมเหงื่ออุดตัน ทำให้เหงือไม่สามารถไหลหรือระบายออกมาได้ และเกิดการอักเสบ กลายเป็นผื่นขึ้นบนผิวหนังในเวลาต่อมา ปัจจัยที่ทำให้เกิดต่อมเหงื่ออุดตัน มีหลายสาเหตุ ได้แก่
- สภาพอากาศที่ร้อนชื้นหรือร้อนมาก
- ทารกมีไข้สูง
- การเสียดสีจากเสื้อผ้า ผ้าอ้อม หรือที่นอน อาจทำให้ผิวหนังของเด็กทารกระคายเคืองและเกิดผดผื่นได้
- การแพ้ บางครั้งผดผื่นอาจเกิดจากการแพ้สารระคายเคือง เช่น สบู่ แชมพู ผงซักฟอก หรือสารเคมีในผ้าอ้อม
- การติดเชื้อ ในบางกรณี ผดผื่นอาจเกิดจากการติดเชื้อราหรือแบคทีเรีย
ผดร้อนในเด็กทารกมีลักษณะอย่างไร ?
ผดร้อนนั้น จะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส ๆ หรือตุ่มแดงขนาดเล็ก เหมือนหยดเหงื่อที่ติดอยู่ใต้ผิวหนัง ของเหลวในตุ่มใสนั้นอาจเป็นสีขาวใสหรือสีน้ำนม สามารถพบได้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คอ หน้าอก หน้าผาก รักแร้ ข้อพับ ข้อศอก และขาหนีบ โดยผดเหล่านี้ก็จะก่อให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง ไม่สบายเนื้อ ไม่สบายตัว
การดูแลผดร้อนในเด็กทารก
- รักษาความสะอาด อาบน้ำด้วยน้ำอุ่น เพื่อเปิดรูขุมขน
- หลังอาบน้ำไม่ต้องเช็ดตัวทารก แต่ซับเบา ๆ เท่านั้นพอ
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เลือกเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายเนื้อนุ่ม และหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่รัดแน่น
- ลดอุณหภูมิในห้อง รักษาอุณหภูมิในห้องให้เย็นสบาย
- ไม่ควรตากแดด และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศร้อนนาน ๆ
- ใช้ครีมหรือโลชั่นสำหรับผดผื่น ปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการใช้ครีมหรือโลชั่นที่เหมาะสม
เมื่อใดควรพบแพทย์
- ผดร้อนไม่หายไปภายใน 2-3 วัน
- ผื่นลุกลามและมีอาการติดเชื้อ เช่น มีหนอง มีไข้
- รู้สึกคันหรือแสบร้อนมาก
- มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง